About

ประวัติฝ่ายกายวิภาคศาสตร์

ในปี พ.ศ. 2490 ได้มีพระราชกฤษฎีกาประกาศตั้งคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ขึ้นในสังกัดมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ฝ่ายกายวิภาคศาสตร์เป็นหนึ่งในสามฝ่ายแรกที่จัดตั้งขึ้น โดยมีศาสตราจารย์ นายแพทย์บัณเย็น ทวิพัฒน์ เป็นหัวหน้าฝ่ายคนแรก ฝ่ายกายวิภาคศาสตร์เป็นฝ่ายแรกที่ทำการจัดการเรียนการสอนก่อนฝ่ายอื่นๆ ทั้งหมด โดยเปิดสอน 3 วิชา คือ Gross Anatomy, Histology และ Developmental Anatomy ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ต่อมาในปี พ.ศ. 2491 ฝ่ายกายวิภาคศาสตร์เริ่มเปิดสอนวิชา Topographic Anatomy และ Neuroanatomy สำหรับนิสิตแพทย์ชั้นปี 2 เมื่อถึงปี พ.ศ. 2510 ได้มีพระราชกฤษฎีกาโอนคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ไปสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายกายวิภาคศาสตร์จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ฝ่ายกายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ฝ่ายกายวิภาคศาสตร์ได้มีพัฒนาการต่อเนื่องเป็นลำดับจนเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ของนิสิตแพทย์ นิสิตสหเวชศาสตร์ นักศึกษาพยาบาล นิสิตบัณฑิตศึกษา ตลอดจนนักเรียนนักศึกษา และประชาชนทั่วไปจวบจนทุกวันนี้ จากจุดเริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน ฝ่ายกายวิภาคศาสตร์มีรายนามหัวหน้าฝ่าย (ตำแหน่งทางวิชาการในขณะนั้น) ดังนี้

  • ศาสตราจารย์ นายแพทย์บัณเย็น  ทวิพัฒน์                                            พ.ศ. 2490 – 2511
  • ศาสตราจารย์ นายแพทย์บุญรักษ์  กาญจนะโภคิน                                 พ.ศ. 2511 – 2522
  • รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุจินต์  อึ้งถาวร                                         พ.ศ. 2522 – 2530
  • ศาสตราจารย์ นายแพทย์มีชัย  ศรีใส                                                     พ.ศ. 2530 – 2534
  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงอรศรี  รมยะนันทน์                               พ.ศ. 2534 – 2541
  • รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงวิไล  ชินธเนศ                                          พ.ศ. 2541 – 2547
  • รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ธันวา  ตันสถิตย์                                        พ.ศ. 2547 – 2555
  • ศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิวัฒน์  มุทิรางกูร                                          พ.ศ. 2555 – 2563
  • ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิทธิพร แอกทอง พ.ศ. 2563 – ปัจจุบัน

กายภาพ

ในช่วงแรกของการก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์ สถานที่เรียนวิชากายวิภาคศาสตร์ คือ ตึกพิพิธภัณฑ์กาชาดซึ่งเป็นเรือนไม้เก่า ต่อมาในราวปี พ.ศ. 2497 ตึกกายวิภาคศาสตร์ซึ่งเป็นอาคาร 3 ชั้นได้ก่อสร้างเสร็จ กล่าวกันว่าตึกกายวิภาคศาสตร์ในสมัยนั้นสง่างามมาก ทำให้บรรยากาศการเรียนการสอนเป็นไปได้ด้วยดีและสะดวกสบายกว่าเรือนไม้หลังเดิม โดยชั้นแรกของอาคารถูกแบ่งสัดส่วนเป็นห้องธุรการ ห้องประชุม และห้องบรรยาย ชั้นที่สองเป็นห้องพักอาจารย์และห้องปฏิบัติการจุลกายวิภาคศาสตร์ ชั้นที่สามเป็นห้องพักอาจารย์ และห้องปฏิบัติการมหกายวิภาคศาสตร์ มีห้องใต้ดินใช้เป็นสถานที่เก็บรักษาสภาพอาจารย์ใหญ่ ในราวปี พ.ศ. 2513 เมื่อนิสิตแพทย์มีจำนวนเพิ่มขึ้นทำให้ตึกกายวิภาคศาสตร์มีสถานที่ไม่เพียงพอสำหรับการเรียนปฏิบัติการวิชามหกายวิภาคศาสตร์ จึงได้มีการต่อเติมตึกกายวิภาคศาสตร์เพิ่มเติม โดยสร้างเป็นอาคาร 4 ชั้นขึ้นมาคู่กับตึกกายวิภาคศาสตร์เดิมทางด้านทิศเหนือ และมีทางเดินเชื่อมติดต่อกันระหว่างอาคารใหม่และอาคารเก่าได้ทั้ง 3 ชั้น

เมื่อปี พ.ศ. 2547 ตึกกายวิภาคศาสตร์อาคารเก่าที่สร้างมาตั้งแต่ พ.ศ. 2497 มีสภาพร้าวที่คานกลางตึกซึ่งเชื่อมต่อระหว่างอาคารเก่าและอาคารใหม่ สภาพอาคารทรุดโทรมทำให้เกิดความเสี่ยงต่อบุคลากรและนิสิตที่ทำงานและเข้ามาเรียนอยู่ในอาคารนี้ คณะแพทยศาสตร์ได้เล็งเห็นความสำคัญจึงได้วางโครงการก่อสร้างอาคารใหม่เป็นอาคารเรียนรวม 11 ชั้น ขึ้นแทนที่ตึกกายวิภาคศาสตร์    

ปีพ.ศ.  2551 และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จเปิดอาคารและศูนย์ฝึกผ่าตัดอย่างเป็นทางการเมื่อวันศุกร์ที่ 27 มีนาคม 2552 และพระราชทานชื่ออาคารว่า “อาคารแพทยพัฒน์”

การบริหาร และวิชาการ

ฝ่ายกายวิภาคศาสตร์ประกอบด้วยหน่วยวิชาต่างๆ  5  หน่วยคือ

  1. หน่วยมหกายวิภาคศาสตร์และศูนย์ฝึกผ่าตัด
  2. หน่วยฮิสโตโลยี
  3. หน่วยเอมบริโอโลยี
  4. หน่วยเวชพันธุศาสตร์
  5. หน่วยประสาทกายวิภาคศาสตร์

หน่วยมหกายวิภาคศาสตร์และศูนย์ฝึกผ่าตัด รับผิดชอบการเรียนการสอนวิชามหกายวิภาคศาสตร์แก่นิสิตแพทย์ นิสิตคณะสหเวชศาสตร์ นักศึกษาพยาบาลวิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทยและวิทยาลัยพยาบาลตำรวจ และนิสิตบัณฑิตศึกษา รวมทั้งรับผิดชอบการจัดเตรียมร่างอาจารย์ใหญ่เพื่อใช้ในการเรียนการสอนนิสิตแพทย์ระดับคลินิกและแพทย์ประจำบ้าน และจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการของศูนย์ฝึกผ่าตัดด้วย    ความก้าวหน้าที่สำคัญของหน่วยมหกายวิภาคศาสตร์และศูนย์ฝึกผ่าตัดมี ดังนี้

  • .ศ. 2531 ฝ่ายกายวิภาคศาสตร์ได้รับการสนับสนุนจากคณะแพทยศาสตร์ ให้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์ขึ้น เพื่อเป็นสถานที่รวบรวมและจัดแสดงชิ้นเนื้อและอวัยวะตามระบบต่างๆ รวมทั้งหุ่นจำลองทางการแพทย์  
  • พ.ศ. 2540 ฝ่ายกายวิภาคศาสตร์ ได้พัฒนาระบบการเก็บรักษาสภาพร่างกาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เนื้อเยื่อคงสภาพปกติอยู่ได้ที่อุณหภูมิห้องอย่างน้อย 2 สัปดาห์ โดยไม่มีกลิ่นของสารเคมี ไม่มีสารอันตรายตกค้าง และสามารถควบคุมความอ่อนนุ่มและสีของเนื้อเยื่อให้มีสภาพใกล้เคียงขณะมีชีวิตมากที่สุด ได้เนื้อเยื่อที่มีความเหมาะสมสำหรับการฝึกทำหัตถการทางการแพทย์ซึ่งเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการก่อตั้งศูนย์ฝึกอบรมทักษะการผ่าตัดของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • เดือนตุลาคม พ.ศ. 2541 ได้มีพิธีเปิดศูนย์ฝึกผ่าตัดอย่างเป็นทางการภายใต้ชื่อว่า “ศูนย์ฝึกผ่าตัด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” หรือ “CHULA SOFT CADAVER SURGICAL TRAINING CENTER” ทำให้คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสถาบันแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียที่สามารถจัดฝึกอบรมการผ่าตัดได้อย่างครบวงจร ส่งผลให้ศูนย์ฝึกผ่าตัดมีศักยภาพมากเพียงพอที่จะรองรับการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการฝึกผ่าตัดทั้งการผ่าตัดแบบเปิดและการผ่าตัดผ่านกล้องทั้งระดับชาติและระดับนานาชาติ

หน่วยเอมบริโอโลยี รับผิดชอบการเรียนการสอนวิชาเอมบริโอโลยีแก่ นิสิตแพทย์ และนิสิตบัณฑิตศึกษา ซึ่งในระยะแรกเปิดสอนเป็นวิชา Developmental Anatomy ภายหลังได้มีการปรับปรุงเนื้อหาโดยเน้นการศึกษาพัฒนาการของมนุษย์เป็นหลัก และเปลี่ยนแปลงไปเป็นวิชา Medical Embryology   ทำให้การเรียนการสอนวิชาเอมบริโอโลยีของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความโดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ และแตกต่างจากสถาบันอื่น

หน่วยเวชพันธุศาสตร์ มีหน้าที่รับผิดชอบในการเรียนการสอนวิชาเวชพันธุศาสตร์พื้นฐานแก่นิสิตแพทย์ และนิสิตบัณฑิตศึกษา การวิจัยทาง

เวชพันธุศาสตร์ และการให้บริการตรวจวิเคราะห์ความผิดปกติของโครโมโซม รวมทั้งการวินิจฉัยโรคพันธุกรรมแก่ผู้ป่วย

  • ด้านการเรียนการสอน หน่วยเวชพันธุศาสตร์ได้พัฒนาการเรียนการสอนวิชาเวชพันธุศาสตร์ให้เป็นแบบบูรณาการ มีการจัดการเรียนแบบถกปัญหากลุ่มย่อยโดยใช้กรณีศึกษาประกอบ ทำให้นิสิตสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ทางคลินิกต่อไป
  • ด้านการวิจัย หน่วยเวชพันธุศาสตร์มีผลงานวิจัยที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ โดยเฉพาะการสร้างองค์ความรู้ใหม่ในส่วนที่เกี่ยวกับพันธุศาสตร์ของโรคมะเร็ง ทำให้หน่วยเวชพันธุศาสตร์ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยให้จัดตั้ง “หน่วยวิจัยอณูชีววิทยาและพันธุศาสตร์ของการเกิดมะเร็ง (Molecular Biology and Genetics of Cancer Development Research Unit)” ขึ้น ในปัจจุบันหน่วยวิจัยอณูชีววิทยาและพันธุศาสตร์ของการเกิดมะเร็ง ได้รับการรับรองจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้เป็น “ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้านอณูพันธุศาสตร์มะเร็งและโรคของมนุษย์ (Molecular Genetics of Cancer and Human Diseases)”
  • ด้านการบริการทางการแพทย์ หน่วยเวชพันธุศาสตร์เปิดให้บริการตรวจวิเคราะห์ความผิดปกติของโครโมโซมจากน้ำคร่ำ เนื้อรก เลือด และไขกระดูก รวมทั้งการวินิจฉัยโรคพันธุกรรมแก่ผู้ป่วย เริ่มเปิดให้บริการตรวจวินิจฉัยโครโมโซมจากเลือดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 และในปี พ.ศ. 2524 สามารถตรวจวินิจฉัยโครโมโซมจากเซลล์น้ำคร่ำได้สำเร็จเป็นแห่งแรกในประเทศไทย  

หน่วยประสาทกายวิภาคศาสตร์ รับผิดชอบการเรียนการสอนวิชาประสาทศาสตร์แก่นิสิตแพทย์และนิสิตบัณฑิตศึกษา การวิจัยทางประสาทกายวิภาคศาสตร์ และการให้บริการตรวจวิเคราะห์ความผิดปกติของเส้นประสาทและการตรวจชิ้นเนื้อ rectal suction biopsy เพื่อการ วินิจฉัยโรค Hirschprung’s disease

  • ด้านการเรียนการสอน หน่วยประสาทกายวิภาคศาสตร์เป็นผู้ริเริ่มนำการเรียนการสอนแบบบูรณาการมาใช้ในการสอนวิชาประสาทศาสตร์เป็นวิชาแรกในคณะแพทยศาสตร์ โดยมีการถกปัญหากลุ่มย่อย และการอภิปรายกรณีศึกษาในห้องบรรยายในลักษณะการประชุม (Conference) ที่มีอาจารย์ทางปรีคลินิกและคลินิกเข้าร่วมการอภิปราย
  • ด้านการบริการทางการแพทย์ หน่วยประสาทกายวิภาคศาสตร์ ได้เปิดบริการตรวจวินิจฉัยโรค Hirschprung’s disease โดยการใช้เทคนิค Histochemistry ย้อมให้เห็นเส้นใยประสาทที่มี enzyme acetylcholinesterase ได้สำเร็จเป็นแห่งแรกในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2534 และเปิดบริการตรวจวินิจฉัยพยาธิสภาพของเส้นประสาทได้ในปี พ.ศ. 2538 นอกจากนี้หน่วยประสาทกายวิภาคศาสตร์ยังได้รับการสนับสนุนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้จัดตั้งเป็นหน่วยปฏิบัติงานวิจัยวิจัยเส้นประสาท (Peripheral nerve research unit) ได้ผลิตบัณฑิตสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์และมีผลงานวิจัยที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง

           นอกจากการเรียนการสอนแล้ว  ฝ่ายยังจัดกิจกรรมพิธีทางศาสนา เช่น งานพระราชทานเพลิงศพแก่ผู้อุทิศร่างกายเพื่อการศึกษา และงานอาจาริยปูชา ซึ่งเป็นพิธีขอขมาก่อนนำขึ้นเรียน